กทช.เพิ่มความเข็มงวดกันฮั้ว 3G ล่าสุดจับพนักงานทำข้อตกลงให้ชื่อกรรมการและข้อมูลเอื้อประโยชน์ผู้เข้ารอบชิงดำ 3G ฝ่าฝืนเอาผิดด้วยพ.ร.บฮั้วสูงสุดติดคุกตลอดชีวิต พร้อมจัดระบบประมูล 3G สุดเข้ม ผู้ประมูลอยู่โซนแดงยึดเครื่องมือสื่อสารห้ามฟังทีวี วิทยุ "นที" แอ่นอกฟันธงประมูล 3G เอกชนสู้เลือดอาบไม่มีใครยอมเสี่ยงรอลุ้นใบที่ 3 เพราะอาจเป็นหมัน
พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่ออนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่านความถี่ 2.1 GHz กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีความพยายามจากบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับการประมูล 3G และพนักงานของ กทช. มาขอรายชื่อคณะกรรมการในการประมูล 3G เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการประมูล กทช.จึงได้ดำเนินการป้องกันการนำไปสู่การฮั้วด้วยการให้พนักงานกทช.ทั้งหมดมาทำข้อตกลงว่าจะไม่มีการเปิดเผยรายชื่อกรรมการ หรือการให้ข้อมูลใดอันนำไปสู่การฮั้วของผู้เข้าร่วมการประมูล 3G หากใครฝ่าฝืนก็จะถูกลงโทษอาญาตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) ซึ่งมีโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิต
ทั้งนี้ ได้กำหนดระยะเวลาการประมูลในวันที่ 20-28 ก.ย. ที่โรงแรมเอวาซอน หัวหิน โดยใช้งบประมาณบริหารจัดการทั้งหมดรวม 50 ล้านบาท เพื่อการดำเนินการประมูลที่โปร่งใสป้องกันการฮั้วประมูล ซึ่งสถานที่ประมูลจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ โซนแดงจะเป็นโซนสำหรับห้องพักพร้อมห้องประมูล ซึ่งผู้เข้าร่วมประมูลทั้งหมดจะต้องอยู่ในโซนนี้ตั้งแต่วันเริ่มประมูลจนสิ้นสุดการประมูล โดยไม่สามารถนำเครื่องมือสื่อสารใดๆ ติดตัวเข้าไปได้ และในพื้นที่ดังกล่าวจะไม่มีโทรทัศน์วิทยุแบบจูนเนอร์ นอกจากนี้ ในส่วนพื้นที่ดังกล่าวกทช.จะติดตั้งระบบสื่อสารต่างๆ เพื่อใช้ในการประมูลใหม่รวมทั้งจัดหาคอมพิวเตอร์ให้ 4 เครื่อง และช่วงเช้าวันแรกของการประมูลจะต้องมีการจับฉลากเลือกรหัสรับเป็นตัวแทนชื่อของบริษัท โดยผู้เข้าร่วมประมูลจะไม่รู้รหัสการประมูลของกันและกัน โซนสีเขียว สำหรับสื่อมวลชน และกทช. ซึ่งโซนนี้จะไม่มีการปิดการสื่อสารใด
สำหรับการประมูลจะใช้วิธีการประมูลแบบพร้อมกันและดำเนินการประมูลหลายรอบ (Simultaneous Multiple Round - SMR ) โดยการประมูลจะเปิดพร้อมกันทั้ง 2 ใบตั้งแต่เวลา 9.00-21.00 น.ให้เคาะราคาชั่วโมงละครั้งเท่ากับ 12 ครั้งต่อวัน โดยต้องเสนอราคาครั้งละ 640 ล้านบาท เท่ากับ 1 วันจะมีการเสนอราคาเพิ่มขึ้นสูงสุด 7,680 ล้านบาทจากราคาเริ่มต้น 12,800 ล้านบาท
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประมูลจะสามารถเลือกประมูลใบอนุญาต 1 ใบต่อหนึ่งรอบเท่านั้น โดยมีเวลาเคาะราคาในช่วง 30 นาทีแรกอีก 20 นาทีจะเป็นช่วงที่คอมพิวเตอร์ประมวลผล และช่วง 10 นาทีสุดท้ายจะเป็นการรายงานผู้ชนะชั่วคราวในรอบนั้นซึ่งจะตัดสินจากราคาสูงสุด หากเสนอราคาเท่ากันผู้ที่เสนอราคาเร็วที่สุดจะเป็นผู้ชนะชั่วคราวไป ทั้งนี้ การรายงานผลจะรายงานเป็นรหัสของผู้ชนะการประมูล ซึ่งรายใดเสนอราคาสูงสุดในใบอนุญาตใดหน้าจอจะปรากฎว่าเครื่องหมายเป็นผู้ชนะราคาชั่วคราว ส่วนอื่นจะไม่มีเครื่องหมายใดๆ ปรากฎบนหน้าจอ
อย่างไรก็ดี ในรอบแรกของการประมูลผู้เข้าประมูลทุกรายต้องเสนอราคา หลังจากนั้นแต่ละรายจะสามารถใช้สิทธิในการไม่เสนอราคาได้ 3 ครั้งตลอดการประมูล หากครั้งที่ 4 ไม่มีการเสนอราคาถือว่าสละสิทธิในการประมูล โดยการประมูลจะสิ้นสุดและได้ผู้ชนะการประมูลทันที
พ.อ.นทีเชื่อว่าการประมูลครั้งนี้ผู้เข้าร่วมทั้ง 3 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวิร์ค จำกัด บริษัท ดีแทค อินเทอร์เน็ต เซอร์วิซ จำกัด และบริษัท เรียลมูฟ จำกัด จะเกิดการแข่งขันอย่างดุเดือดและนำมาซึ่งราคาคลื่นที่แท้จริง เนื่องจากไม่มีผู้ให้บริการ ที่เสนอความจำนงเข้าร่วมการประมูลครั้งนี้ล้วนเป็นผู้ประกอบการรายเดิมและไม่มีใครยอมเป็นรายที่ 3 เพราะไม่มีใครสามารถการรันตีได้ว่า จะสามารถประมูลหรือออกให้ได้ตามกำหนดที่กทช.ว่างไว้ภายใน 90 วันหลังจากการประมูล 2 ใบแรกได้หรือไม่ เพราะในระยะเวลาดังกล่าวอาจเกิดเหตุการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมพ.ศ. .... ซึ่งกทช.จะหมดอำนาจในการให้ใบอนุญาตทันที
อย่างไรก็ตาม แม้กทช.สามารถออกใบอนุญาต 3G ตามแผนที่วางไว้การเปิดให้บริการในระยะเวลาห่างจาก 2 รายแรกอย่างน้อย 3 เดือนก็ทำให้มีความได้เปรียบในแง่ธุรกิจไม่น้อย เพราะอย่างน้อยก็สร้างภาพลักษณ์ที่เหนือกว่าและสร้างความคุ้นเคยรู้จักให้ลูกค้าไปได้ก่อน
“ผมเชื่อว่าการแข่งขันใบอนุญาต 2 ใบแรกจะดุเดือน และไม่มีการฮั้ว เพราะไม่มีใครอยากเป็นรายที่ 3 ทั้งที่ไม่แน่ใจว่าใบอนุญาตใบสุดท้ายกทช.จะออกให้ได้หรือไม่ เพราะในช่วงเวลาที่เหลืออาจจะเกิดเหตุการณ์ที่กทช.ควบคุมไม่ได้เช่น พ.ร.บ.กสทช.ผ่าน ทำให้กทช.หมดอำนาจออกใบอนุญาตไปก็ได้”